วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืช  ที่น่าทึ่ง...!!!



tidtangoug
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่นำเอาส่วนตาหรือกิ่งของพืชต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีหรือ กิ่งพันธุ์ดี ไปติดเข้ากับพืชอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้ตาของพืชเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป ส่วน ต้นตอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบราก นั้น เป็นต้นพืชที่มีความแข็งแรง หาอาหารเก่ง เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตา มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ผล
ลุงสุขอาหารเสริมพืช http://line.me/ti/p/%40lungsuk
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการช่วยเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดี ให้เป็นพันธุ์ดีได้ ทำให้พันธุ์พืชมีความแข็งแรง ต้านทานศัตรูและความแห้งแล้งได้ดี เพราะมีต้นตอที่แข็งแรง สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก เพราะกิ่งพันธุ์แต่ละกิ่งจะมีหลายตา นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้ด้วย โดยเฉพาะการผลิตพืชแฟนซี ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตหลายอย่างในต้นเดียวกัน เช่น มะม่วงอกร่องมะม่วงเขียวเสวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ในต้นเดียวกัน หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ จะมีดอกหลายสีในต้นเดียวกัน ฯลฯ ทั้งนี้ การติดตา สามารถ ทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยสามารถนำตาจากกิ่งพันธุ์ดี จากแหล่งหนึ่งไปทำการติดตาอีกแหล่งหนึ่งได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการบังคับและเลี้ยงตาใหม่ให้เป็นต้นพืช ยาวนานกว่าการต่อกิ่ง ดังนั้นผู้ที่ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการติดตา ได้ดี ต้องมีความชำนาญและประณีตในการขยายพันธุ์
tidtakla
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดตา ได้แก่
  1. ) ต้นตอ
  2. ) กิ่งพันธุ์ดี
ต้นตอ หมายถึง ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบราก หาอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืช มี 2 ชนิด คือ
  1. ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ผล เช่น มะม่วง ขนุน ทุเรียน มะขาม เป็นต้น ต้นตอที่มีลักษณะดี จะต้องมีลำต้นตั้งตรง ไม่บิดคด หรือมีรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่าน ซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดลงเพาะผิดวิธี
  2. ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ บางครั้งเรียกว่า ต้นตอตัดชำ ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ เช่น กุหลาบ ชบา เข็ม โกสน เฟื่องฟ้า ผกากรอง โมก ฯลฯ เป็นต้น ข้อเสียของต้นตอตัดชำ คือ มีระบบรากตื้น แต่ถ้านำไปเป็นต้นตอสำหรับไม้ผล จะต้องทำการเสริมราก เพิ่มขึ้น
tidta
การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น ต้นตอ ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
  1. เจริญเติบโตเร็ว ปราศจากโรคและแมลง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
  2. ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งด้วยวิธีเพาะเมล็ด ตัดชำหรือตอนกิ่ง
  3. สามารถเชื่อมต่อกับกิ่งพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มาก
  4. หาเมล็ดหรือต้นได้ง่าย
  5. เป็นพืชที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
ตาจากกิ่งพันธุ์ดี หมายถึง ส่วนของพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบยอดในต้นพืช สำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา
การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น กิ่งพันธุ์ดี ควรมีคุณสมบัติ ดังนี้
  1. เป็นกิ่งที่มีตาแข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง
  2. ควรเลือกจากกิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง
  3. เป็นกิ่งที่มีความสมบูรณ์ปานกลาง โดยสังเกตจากข้อ ที่ไม่ถี่หรือห่างเกินไป
  4. ตาของกิ่งพอเหมาะ คือ มีขนาดพอประมาณเท่าดินสอดำ
  5. เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง สมบูรณ์ ไม่มีโรค
  6. ถ้าเป็นกิ่งแก่ ควรมีอายุไม่เกิน 1 ปี เพราะถ้าอายุมากเกินไป ตาที่ติดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
วิธีการติดตา
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ประหยัดกิ่งพันธุ์ดี เพราะแทนที่จะใช้
กิ่งพันธุ์ดีหลายตาเหมือนการต่อกิ่ง กลับใช้กับกิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว ซึ่งจะอยู่บนส่วนของแผ่นเปลือกไม้ ซึ่งอาจจะมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ ก็ได้ ขบวนการประสานเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นจากการติดตา มีลักษณะเช่นเดียวกับการต่อกิ่งทุกประการ
เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตา
  • ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
  • ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
  • มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
  • กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
  • แถบพลาสติกพันกิ่ง
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดตาที่ได้ผลดี มีดังนี้
  1. ตาต้องอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญเติบโต และอยู่ในระยะพักตัว คือช่วงฤดูหนาว และสังเกต ตาจะนูนออกมาคล้ายๆ กับตาที่กำลังจะแตกยอดใหม่
  2. ต้นตอต้องอยู่ในช่วงที่ไม่พักตัวคือ เป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เนื้อเยื่อเจริญกำลังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว สังเกตจากเวลาใช้มีดกรีดเปลือกไม้จะมีน้ำยางไหลออกมา
  3. รอยแผลที่เฉือนแผ่นตาจะต้องเรียบ แผ่นตาไม่ช้ำและฉีกขาด
  4. การพันพลาสติก ควรพันให้แน่นและปิดรอยแผลไม่ให้น้ำเข้าได้ เพราะถ้าหากน้ำเข้าไปที่แผลติดตา จะทำให้ตาของพืชเน่าตายได้
  5. ตาที่ติดนั้นจะต้องทำให้เนื้อเยื่อเจริญสัมผัสกับต้นตอมากที่สุดและไม่ให้ถูกแดดจัดส่องตลอดเวลา เพราะจะทำให้ตาเหี่ยวและแห้งตาย
  6. มีดและมือจะต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรคหากเชื้อโรคเข้าแผล อาจทำให้แผลเน่าและตาไม่ติดและเน่าตายได้
วิธีการติดตา
1. การติดตาแบบตัวที (T)
เป็นวิธีการติดตาที่เปิดปากแผลบนต้นตอแบบตัว T สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก่อนทำการติดตาแบบนี้ คือ
ต้นตอต้องสมบูรณ์ ลอกเปลือกไม้ง่าย ไม่เปราะหรือฉีกขาด และตาพันธุ์ดีสามารถลอกแผ่นตาออกได้ง่าย
ต้นตอต้องมีขนาดไม้ใหญ่โตเกินไป ควรมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ นิ้ว
  1. การติดตาแบบตัวที (T-Budding)
    1. ทำแผลบนต้นตอ โดยเลือกตรงส่วนที่ใกล้ข้อ กรีดเปลือกไม้ขวางกิ่งหรือลำต้นทำเป็นหัวตัว T ยาวประมาณ ๑-๑.๕ เซนติเมตร ลงมาในแนวขนานกับต้นหรือกิ่ง จากนั้นใช้ปลายมีดเปิดหัวตัว T และเผยอเปลือกไม้ตามแนวยาวที่กรีดไว้
    2. เฉือนกิ่งตาพันธุ์ดีเป็นรูปโล่โดยให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย และเพื่อให้การติดตาได้สนิท ควรลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือก แผ่นตาโดยลอกจากด้านล่างของแผ่นตาขึ้นด้านบน
    3. สอดแผ่นตาพันธุ์ดีเข้าไปในเปลือกไม้รูปตัว T ให้แนบสนิทกับเนื้อไม้ของต้นตอ กรณีมีส่วนแผ่นตาพันธุ์ดีโผล่เลยหัวตัว T ให้ตัดส่วนเกินทิ้งตรงบริเวณรอยแผลหัวตัว T เดิม
    4. พันด้วยพลาสติกใสให้แน่น โดยพันจากด้านล่างขึ้นด้านบนแบบมุงหลังคา
  2. การติดตาแบบตัวทีแปลง (Terminal Budding) เป็นวิธีการติดตาเหมือนการติดตาแบบตัว T แต่แตกต่างกันคือ วิธีนี้จะใช้สำหรับตาที่พักตัว โดยมีวิธีทำดังนี้
    1. เปิดปากแผลต้นตอแบบตัว T แล้วเฉือนเนื้อไม้เหนือหัวตัว T ลงมาหาแผลหัวตัว T เดิม
    2. เฉือนแผ่นตาพันธุ์ดีแบบรูปโล่และตัดส่วนล่างหลังแผ่นตาเป็นรูปหน้าสิ่ว
    3. สอดแผ่นตาเข้าไปในเปลือกไม้รูปตัว T โดยให้ตาพันธุ์ดีแนบสนิทกันพอดี
    4. พันด้วยพลาสติกใสให้แน่น
tidta11 tidta12
2. การติดตาแบบเพลท หรือแบบเปิดเปลือกไม้ (Plate Budding)
เป็นวิธีการติดตาที่คล้ายการติดตาแบบตัว T แต่ขนาดต้นตอใหญ่กว่าแบบตัว T เหมาะสำหรับพืชที่มีน้ำยาง เช่น ยางพารา ขนุน หรือพืชที่สร้างรอยประสานช้า เช่น มะขาม และที่สำคัญคือ ต้นตอและตาพันธุ์ดีต้องลอกเนื้อไม้ออกจากเปลือกได้ง่าย
วิธีการทำแผลบนต้นตอ
  1. การทำแผลรูปเข็มเย็บกระดาษ (Plate Budding) โดยกรีดเปลือกไม้เป็นแนวยาวขนานกับลำต้นหรือกิ่งต้นตอ ๒ แนว ห่างกันประมาณ ๑-๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๓-๕ เซนติเมตร จากนั้นตัดรอยขนานด้านบนแบบรูปเข็มเย็บกระดาษคว่ำเผยอเปลือกไม้ แล้วตัดเปลือกไม้ออกประมาณ ๒/๓ ของความยาวแผล
  2. การทำแผลแบบตัว H หรือสะพานเปิด (H Budding) เป็นวิธีการทำแผลเป็นรูปคล้ายสะพานเปิดโดยการกรีดเปลือกไม้เป็นแนวขนานกับลำต้น ๒ แนว แล้วกรีดตรงกลางขวางรอยแนวกรีดขนาน เผยอเปลือกไม้ด้านบนขึ้นและส่วนด้านล่างของแผลเผยอลงคล้ายสะพานเปิด
  3. การทำแผลแบบเปิดหน้าต่าง ๒ บาน (I Budding) โดยกรีดเปลือกไม้ตามแนวยาวของลำต้น ๑ แนว แล้วกรีดขวางลำต้น ๒ แนว ทั้งด้านบนและด้านล่าง แล้วเผยอเปลือกไม้ออกทางด้านข้างคล้ายการเปิดหน้าต่าง
  4. การทำแผลเป็นรูปจะงอยปากนก (Triangle Budding) โดยกรีดเปลือกไม้ขนานไปตามความยาวของลำต้นหรือต้นตอโดยให้ส่วนล่างของแผลเรียวเข้าหากันเป็นรูปปากนก แล้วเผยอปากแผลจากด้านล่างคล้ายปากนกขึ้น ตัดเปลือกทิ้ง ๒/๓ ของความยาวรอยแผล
การเตรียมแผ่นตาพันธุ์ดี
ทำการเฉือนแผ่นตาแบบรูปโล่แล้วลอกเนื้อไม้ที่ติดมากับแผ่นตาออก (ทุกแบบของการติดตาแบบเพลทจะเตรียมแผ่นตาแบบรูปโล่)
การสอดแผ่นตา
สอดแผ่นตารูปโล่เข้าไปในแผลของต้นตอสัมผัสกับเนื้อไม้โดยให้เปลือกไม้ที่เผยอออกหุ้มแผลตาไว้ บางวิธีเปลือกไม้อาจต้องหุ้มแผ่นตาไว้ หรือตัดส่วนเปลือกไม้ที่เกินออก ๒/๓ ของรอยแผลเพื่อให้ส่วนตาโผล่พ้นรอยแผล
การพันพลาสติก
พันพลาสติกให้แน่นโดยพันจากส่วนล่างขึ้นบนให้หุ้มแผ่นตาทั้งหมด
3. การติดตาแบบแพทซ์ หรือแผ่นปะ (Patch Budding)
เป็นการติดตาอีกแบบหนึ่งโดยนำแผ่นตาพันธุ์ดีปะไปบนรอยแผลของต้นตอที่เตรียมไว้เป็นรูปต่าง ๆ นิยมใช้กับพืชที่เกิดรอยประสานเร็วและไม่มีน้ำยาง เช่น ต้นลูกเนยและชบา เป็นต้น
  1. การติดตาแบบแผ่นปะรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า (Patch Budding)
    – เตรียมแผลบนต้นตอโดยการกรีดเปลือกไม้บนต้นตอเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแล้วลอกเปลือกไม้ออก
    – กรีดและลอกแผ่นตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดเท่ากับแผลบนต้นตอ
    – นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอ โดยเอาส่วนตาหงายขึ้น แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  2. การติดตาแบบวงแหวน (Ring Budding)
    – เตรียมแผลบนต้นตอโดยการควั่นรอบกิ่งหรือต้นตอเป็นวงแหวนเหมือนการตอนกิ่งแบบควั่นกิ่ง แล้วลอกเปลือกที่ควั่นออก
    – เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีเป็นรูปวงแหวนขนาดเท่ากับรอยแผลบนต้นตอ
    – นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  3. การติดตาแบบวงแหวนแปลง (Flute Budding)
    – เตรียมแผลบนต้นตอเป็นแบบวงแหวน แต่ให้เปลือกไม้ไว้เป็นสะพานเชื่อมโยงรอยแผลที่ควั่นทั้ง ๒ ด้าน ขนาด ๑/๕ ของเส้นรอบวง
    – เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีในลักษณะวงแหวนเท่ากับแผลของต้นตอ
    – นำแผ่นตาที่ได้ไปปะลงบนแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  4. การติดตาแบบลอกเปลือกแบบรูปโล่ (Skin Budding)
    – เตรียมแผลบนต้นตอแบบรูปโล่ แต่ไม่ติดเนื้อไม้แล้วลอกเปลือกไม้ออก
    – เตรียมแผ่นตาเป็นรูปโล่ขนาดเท่ากับรอบแผลบนต้นตอและลอกเนื้อไม้ทิ้ง
    – นำแผ่นตาที่ได้ไปปะบนรอยแผลของต้นตอแล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
tidtapatatidtapabtidtapatidtamad
4. การติดตาแบบชิปหรือไม่ลอกเนื้อไม้ (Chip Budding)
วิธีการติดตาแบบนี้นิยมใช้กับพืชที่ลอกเปลือกไม้ออกยากหรือเปลือกไม้บางและเปราะ ขนาดต้นตอประมาณ ๐.๕ นิ้ว เหมาะสำหรับการติดตาองุ่น เงาะ และไม้ผลอื่นที่ลอกเปลือกไม้ยาก
  1. วิธีการติดตาแบบชิบ (Chip Budding)
    เตรียมแผลต้นตอโดยการเฉือนเนื้อไม้และทำบ่าด้านบนและด้านล่างของปากแผลในลักษณะบ่าเอียงเข้าหากัน เฉือนแผ่นตาเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู ขนาดที่สามารถสอดเข้ารอยแผลของต้นตอได้ สอดแผ่นตาเข้าไปในรอยแผลของต้นตอทางแนวด้านข้าง และจัดให้แผ่นตารับกับรอยบ่าที่ทำไว้ให้สนิท แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  2. วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๑ (Modified Chip Budding I)
    1. เตรียมแผลต้นตอโดยการเฉือนเนื้อไม้เป็นรูปโล่ และทำบ่าที่ด้านล่างของรอยแผล
    2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีแบบรูปโล่โดยตัดหลังปากแผลด้านล่างเป็นรูปหน้าสิ่วสำหรับที่จะสอดแผ่นตาเข้าไปรับบ่าของรอยแผลบนต้นตอได้ผลดี
    3. สอดแผ่นตาจากด้านบนลงด้านล่างให้เข้ากันสนิท แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  3. วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๒ (Modified Chip Budding II)
    1. เตรียมแผลบนต้นตอเหมือนวิธีที่ ๑ เพียงแต่เฉือนปากแผลส่วนบนขึ้นไปเข้าเนื้อไม้
    2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์ดีแบบวิธีติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๑
    3. สอดแผ่นตาเข้าไปขัดในร่องบ่าด้านล่างและให้ปลายแผ่นตาด้านบนเข้าตรงรอยผ่าของปากแผลด้านบนพอดี แล้วพันด้วยพลาสติกให้แน่น
  4. วิธีการติดตาแบบชิปแปลงวิธีที่ ๓ (Modified chip Budding III)
    1. เตรียมแผลต้นตอเหมือนวิธีที่ ๑ เพียงแต่เฉือนบ่าลึกเข้าเนื้อไม้ในแนวขนานกับลำต้น
    2. เตรียมแผ่นตาพันธุ์แบบชิปแปลงวิธีที่ ๑
    3. สอดแผ่นตาพันธุ์ดีเข้าตรงรอยผ่าจากบ่าลงไปในเนื้อไม้บนต้นตอ แล้วพันพลาสติกให้แน่น
การปฏิบัติหลังจากทำการติดตา
  1. ประมาณ ๗-๑๐ วัน ให้สังเกตดูแผ่นตาที่ทำการติดไว้ ถ้ายังสดหรือมีสีเขียวแสดงว่าแผ่นตาติดและเริ่มประสานกับเยื่อเจริญของต้นตอ จึงทำการกรีดพลาสติกที่พันให้ตาโผล่ออกมา
  2. เมื่อตาโผล่ออกมาเป็นยอดอ่อนแล้วจึงแก้พลาสติกที่พันไว้เดิม แล้วพันด้วยพลาสติกใหม่บริเวณส่วนเหนือและใต้ยอดอ่อนที่โผล่ออกมาใหม่จนกว่ารอยประสานบริเวณที่ทำการติดตานั้นประสานกันสนิทเป็นเนื้อเดียวกันจึงค่อยแก้พลาสติกออกให้หมด
  3. กรณีที่ตาที่ติดไม่แตกยอดออกมาเป็นยอดอ่อนจำเป็นต้องทำการบังคับซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
tidtamadmid
วิธีการบังคับตา ทำได้หลายวิธีดังนี้
  1. ใช้วิธีโน้มยอดของต้นตอลงมาในทิศทางตรงกันข้ามกับส่วนที่ติดตา
  2. ควั่นหรือบากเปลือกต้นตอเหนือบริเวณที่ทำการติดตาซึ่งอยู่ด้านเดียวกับตาที่ติด
  3. ตัดยอดดต้นตอให้สั้นลง โดยให้มีใบติดอยู่ประมาณ ๔-๕ ใบ เหนือบริเวณที่ทำการติดตา
  4. ตัดยอดต้นตอให้สั้นชิดตาที่ติด
  5. บังคับตาโดยใช้ฮอร์โมนป้ายที่ตาเพื่อให้ตาแตกออกมาใหม่ การบังคับตาอาจต้องทำหลาย ๆ วิธีช่วยกันเพื่อให้ตาแตกเร็วขึ้น
tidtaperd




ที่มา
ห้องสมุดความรู้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดย สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
https://web.ku.ac.th/nk40/nk/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น